วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พระผงสุพรรณ

พระผงสุพรรณเป็นพระเครื่องที่พบในกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี เป็นพระเครื่องเนื้อดินเผา จำลองพุทธลักษณะองค์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในลักษณาการ ปางมารวิชัย แบ่งแยกแม่พิมพ์ได้เป็นพิมพ์หน้าแก พิมพ์หน้ากลาง และพิมพ์หน้าหนุ่ม (สมัยโบราณเรียกพิมพ์หน้าหนู) องค์พระประทับนั่ง ปางมารวิชัยบนฐานเขียงชั้นเดียว พระเกศคล้ายฝาละมี มีกระจังหน้า พระพักตร์เคร่งขรึม พระนาสิกหนาใหญ่ พระอุระหนา ส่วนพระกรทอดเรียว แสดงออกถึงศิลปะสกุลช่างอู่ทองที่เน้นความละม้ายคล้ายคลึงกับมนุษย์มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ เมื่อพบพิมพ์พระ 3 ประเภท จึงเรียกชื่อตามลักษณะพระพักตร์และตามศิลปะสกุลช่างแห่งพระพุทธรูปที่พระพักตร์เหี่ยวย่นเหมือนคนแก่ เรียกว่าพิมพ์หน้าแก่ ที่พระพักตร์อ่อนโยนดูอิ่มเอิบ เรียกว่าพิมพ์หน้ากลาง ที่พระพักตร์อิ่มเอิบเรียวเล็ก ปราศจากรอยเหี่ยวย่น เรียกว่าพิมพ์หน้าหนุ่ม

พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่นั้นเป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาศิลปะอู่ทอง ประทับนั่งปางมารวิชัย บานฐานเขียง พระพักตร์มีเค้าความ
เหี่ยวย่นคล้ายคนชราภาพ เป็นที่มาของชื่อ "พิมพ์หน้าแก่"
พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้ากลาง มีพุทธลักษณะเนื้อหาทรวดทรงสัณฐานเช่นเดียวกับพระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่แต่เค้าพระพักตร์จะไม่เคร่งขรึมเหี่ยวย่นเหมือนพิมพ์ หน้าแก่ ดูอิ่มเอิบสดใส คล้ายหน้ามนุษย์ที่ไม่สูงวัยมาก และจะมีแม่พิมพ์เพียงพิมพ์เดียว
พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าหนุ่ม เป็นพิมพ์ที่มีความลึก คมชัดเป็นอย่างยิ่ง ดูจากสภาพองค์พระที่ปรากฏจะเห็นลักษณะการถอดออกจากแม่พิมพ์ค่อนข้างยากว่าพระผงสุพรรณพิมพ์อื่น เหตุเพราะแม่พิมพ์มีความลึกมากเป็นพิเศษ ดังนั้น จึงพบองค์สภาพสมบูรณ์น้อยมาก พระพักตร์จะดูอ่อนเยาว์ สดใส และเรียวเล็กกว่าพิมพ์อื่น สมัยโบราณเรียกว่า "พิมพ์หน้าหนู" ซึ่งพระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าหนุ่ม นี้มีแม่พิมพ์เดียว